ต้องการความช่วยเหลือ ค้นหาได้เลย

ภาวะก่อนเบาหวาน ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย
ภาวะก่อนเบาหวาน ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย

ภาวะก่อนเบาหวาน ภัยเงียบที่ไม่ควรละเลย

  • ชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่ ประมาณ 96 ล้านคน หรือ มากกว่า 1 ใน 3 มีภาวะก่อนเบาหวานก่อนวัยอันควร!!
  • ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน มากกว่า 80% ไม่รู้ตัว!! ทำให้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีปัญหาเกี่ยวกับตาและไตเพิ่มขึ้น
  • หากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ไม่ลดน้ำหนัก ไม่ออกกำลังกาย ไม่คุมอาหาร 15-30% ของผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานจะกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ภายใน 5 ปี
ข้อมูลข้างต้นนั้น น่าตกใจไม่น้อย ดังนั้นการทำความรู้จักและรู้ทันภาวะก่อนเบาหวานอาจช่วยให้ความเสี่ยงร้ายแรงต่าง ๆ ลดลงได้

ภาวะก่อนเบาหวาน
เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานได้
ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีภาวะก่อนเบาหวานนำมาก่อนเสมอ แต่มักไม่แสดงอาการ

อะไรทำให้เกิดภาวะก่อนเบาหวาน?
ภาวะก่อนเบาหวาน เกิดจากเซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อยลง (ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อน ทำหน้าที่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้น้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน) ทำให้ตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินมากขึ้นเพื่อให้เซลล์ตอบสนอง หรือที่เรียกว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน” ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ตับอ่อนทำงานหนักและเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ เมื่อเซลล์ตับอ่อนเสื่อมสภาพจนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอกับความต้องการอินซูลินของร่างกาย จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะก่อนเบาหวาน และกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด

สัญญาณและอาการเตือน
ภาวะก่อนเบาหวานสามารถซ่อนอยู่ได้หลายปีโดยไม่แสดงอาการใด ๆ  ออกมาอย่างชัดเจน จึงมักตรวจไม่พบจนกว่าจะเห็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ดังนั้นการปรึกษาแพทย์และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น  หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
  • อายุ 45 ปีขึ้นไป
  • น้ำหนักเกิน สังเกตจากรอบเอวที่ใหญ่กว่า 40 นิ้ว สำหรับผู้ชาย และ 35 นิ้ว สำหรับผู้หญิง
  • มีประวัติพันธุกรรม หรือคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือออกกำลังกายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • กินเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปปริมาณมากเป็นประจำ รวมถึงชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดทารกที่มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
  • มีคอเลสเตอรอลสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง LDL สูง แต่ค่า HDL ต่ำ
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • เป็นโรคหัวใจ
อาการของภาวะก่อนเบาหวาน อาจจะแสดงออกมาให้พอสังเกตได้ เช่น กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย ตาพร่ามัว เหนื่อยง่ายหรือเหนื่อยมากกว่าปกติ ผิวคล้ำที่บริเวณลำคอ ในผู้ชายอาจทำให้เกิดปัญหาทางเพศ เช่น ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) และความต้องการทางเพศลดลง
ภาวะก่อนเบาหวานหากไม่ได้รับการรักษา อาจพัฒนากลายเป็นโรคเบาหวาน หรือทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคไต ตาบอด ความดันโลหิตสูง ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท แม้กระทั่งการสูญเสียแขน ขาได้

การป้องกันโรคเบาหวาน
หากมีภาวะก่อนเบาหวาน การลดน้ำหนักเพียงเล็กน้อย ประมาณ 5% ถึง 7% ของน้ำหนักตัว ในกรณีที่มีน้ำหนักเกินและออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็วอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน เพียง 30 นาทีต่อวัน ห้าวันต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้

การวินิจฉัย
American Diabetes Association (ADA) แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับผู้ใหญ่ เมื่ออายุ 45 ปี และแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเบาหวานก่อนอายุ 45 ปี หากมีน้ำหนักเกิน และมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมสำหรับภาวะก่อนเบาหวานหรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การตรวจเลือดที่จำเป็นสำหรับภาวะก่อนเบาหวาน ได้แก่

Glycated hemoglobin (A1C or HbA1c), การทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ย ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยสามารถการอ่านผลการตรวจได้ ดังนี้
  • ต่ำกว่า 5.7%  = ปกติ
    ระหว่าง 5.7% ถึง 6.4%  = เป็นภาวะก่อนเบาหวาน
    6.5% หรือสูงกว่า (ในการทดสอบสองครั้งแยกกัน) = เป็นโรคเบาหวาน

การตรวจน้ำตาลในเลือด
ก่อนตรวจต้องงดรับประทานอาหารและดื่มน้ำ เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลในเลือดจะแสดงเป็นมิลลิกรัมของน้ำตาลต่อเดซิลิตร (มิลลิกรัม/เดซิลิตร) หรือมิลลิโมลของน้ำตาลต่อลิตร (มิลลิโมล/ลิตร) ของเลือด
  • น้อยกว่า 100 มก./ดล. (5.6 มิลลิโมล/ลิตร) = ปกติ
    100 ถึง 125 มก./ดล. (5.6 ถึง 6.9 มิลลิโมล/ลิตร) = เป็นภาวะก่อนเบาหวาน
    126 มก./ดล. (7.0 มิลลิโมล/ลิตร) หรือสูงกว่า (ในการทดสอบสองครั้งแยกกัน) = เป็นโรคเบาหวาน

การรักษาภาวะก่อนเบาหวาน
การปรับไลฟ์สไตล์และดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดีจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาเป็นปกติ หรือป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงจนเป็นโรคเบาหวาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันภาวะก่อนเบาหานไม่ให้กลายเป็นโรคเบาหวานสามารถทำได้ดังนี้
  • กินอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานอาหารประเภทผลไม้ ผัก ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี น้ำมันมะกอก เลือกอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ มีไฟเบอร์สูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น การเดินอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนัก หากมีน้ำหนักเกินค่ามาตรฐาน โดยปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย
  • เลิกสูบบุหรี่
  • รักษาค่าความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน
  • ใช้ยาเมทฟอร์มิน (กลูโคฟาจ) เพื่อลดน้ำตาลในเลือดหากมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญก่อนใช้
 
อาหารแนะนำสำหรับผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน 
  • รับประทานผักมากขึ้น ไฟเบอร์จากพืชทำให้อิ่มได้โดยไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด และยังอุดมไปด้วยสารอาหาร ควรกินอย่างน้อย 3-5 เสิร์ฟต่อวัน (½ ถ้วยสุกหรือ 1 ถ้วยดิบ) จะทานแบบสด แช่แข็ง หรือกระป๋องก็ได้ แต่ควรเลือกแบบโซเดียมต่ำหรือไม่มีโซเดียม เสริมด้วยผักหลากสี เช่น แครอท พริกหยวก บรอกโคลี และผักใบเขียว เช่น ผักโขมหรือคะน้า
  • ลดผักที่มีแป้ง เช่น มันฝรั่งขาว มันเทศ ข้าวโพด
  • รับประทานทานผลไม้ได้ เพราะผลไม้อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุ แต่ควรจำกัดปริมาณไม่เกินสองถึงสามเสิร์ฟต่อวัน เช่น แอปเปิ้ลลูกเล็กหนึ่งลูกหรือสตรอเบอร์รี่ ½ ถ้วย เพื่อควบคุมไม่ให้ได้รับน้ำตาลจากผลไม้มากจนเกินไป หรือเลือกผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำเช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ กีวี แตง และส้ม จับคู่ผลไม้กับโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนยถั่วธรรมชาติ กรีกโยเกิร์ต หรืออัลมอนด์
  • เลือกรับประทานโฮลเกรน ธัญพืชไม่ขัดสีจะมีเส้นใยและสารอาหารอื่นๆ ซึ่งแตกต่างจากธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ควินัว เป็นต้น
  • เพิ่มถั่วและเมล็ดธัญพืช เลือกชนิดที่ไม่มีเกลือ ถั่วและเมล็ดพืชมีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีแคลอรีสูงเช่นกัน ทางเลือกที่ดี คือ วอลนัท พิสตาชิโอ เมล็ดทานตะวัน และเม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • เพิ่มอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากโปรตีนจะช่วยให้รู้สึกอิ่มและชะลอความเร็วของคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่กระแสเลือด  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ แหล่งที่มาของโปรตีน เช่น ปลาและอาหารทะเล เนื้อไม่ติดมัน ถั่ว ไข่ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ชาและกาแฟที่มีรสหวาน เพราะนอกจากจะเป็นตัวเพิ่มน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังไม่มีไฟเบอร์และโปรตีน ที่ช่วยชะลอกระบวนการย่อยอาหาร หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ ค็อกเทลผสมแอลกอฮอล์
  • จำกัดปริมาณน้ำตาล อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเพื่อดูว่ามีน้ำตาลในอาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุหีบห่อมากน้อยเพียงใด อาหารแปรรูปที่มีน้ำตาลสูงที่ควรหลีกเลี่ยงเช่น คุกกี้ ลูกอม และเค้ก
  • อย่าละเลยการรับประทานอาหารเช้า เพราะจะช่วยควบคุมความหิวระหว่างวัน และคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักโภชนาการ (ถ้าจำเป็น) หากมีภาวะก่อนเบาหวาน โปรแกรมป้องกันโรคเบาหวานที่แนะนำโดย CDC สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ ได้ หรือการตรวจสุขภาพด้วยโปรแกรมดูแลสุขภาพเชิงลึก ที่ออกแบบโดยทีมแพทย์เป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) เพื่อค้นหาและดูแลแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Wellness Care Plan) ตามแบบแผนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (VitalLife Wellness Tree and Holistic Health Care)
 

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์

📍 สนใจทำนัดปรึกษาภาวะก่อนเบาหวาน  👉 https://bit.ly/3hClF2M


สนใจ “ดูแลสุขภาพแนวใหม่ด้วย Bio Sensor” คลิก
https://www.youtube.com/watch?v=0GQLp9pGPEo
https://www.vitallifeintegratedhealth.com/th/packages
https://www.vitallifeintegratedhealth.com/th/packages/bio-sensor-gold-male

References
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/april-2021/prediabetes
https://www.exercise-physiology.com.au/blog/pre-diabetes-understand-the-risks
https://www.cdc.gov/diabetes/basics/prediabetes.html
https://www.cdc.gov/prediabetes/takethetest
https://www.chcanys.org/sites/default/files/2021-08/Prediabetes-Risk-Test-Final.pdf
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/prediabetes/diagnosis-treatment/drc-20355284
 
 
 
 

Facebook
Twitter
Link
Line
My default image

Feel Younger . Look Better . Live Longer

Book an appointment

ไม่พลาดข้อมูลข่าวสาร!